”ตึกโดม ธรรมศาสตร์“ สัญลักษณ์พิทักษ์ธรรม

ตึกโดม ม.ธรรมศาสตร์ เมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ภายในอาคารตึกโดมเมื่อเดินจากบันไดกลางขึ้นไปบนชั้น 2 ห้องแรกจะเป็นห้องที่ใช้เป็นศูนย์บัญชาการขบวนการเสรีไทย ซึ่งมี “นายปรีดี พนมยงค์” เป็นผู้นำ โดยทำงานร่วมกับเสรีไทยสายอังกฤษ และสายสหรัฐอเมริกา

ตึกโดมของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงมีสถานะพิเศษอย่างยิ่งสำหรับผู้ร่วมขบวนการเสรีไทยและผู้รักชาติทั้งมวล แต่ในอีกทางหนึ่งก็ได้ส่งผลให้ฝ่ายกองทัพและผู้มีอำนาจทางการเมือง ฝ่ายตรงข้าม นายปรีดี เกิดความระแวง และหวาดกลัวมหาวิทยาลัยแห่ง

หลังเหตุการณ์กบฏแมนฮัตตัน เดือนมิถุนายน พ.ศ.2494 กองทัพบกได้เข้ายึดพื้นที่ของมหาวิทยาลัยไว้ รวมทั้งเสนอขอซื้อที่ผืนนี้ด้วยเงินจำนวน 5 ล้านบาท แต่นักศึกษาจำนวนกว่า 2 พันคน ได้รวมตัวกันเดินขบวนไปยังรัฐสภา เพื่อเรียกร้องขอมหาวิทยาลัยคืนจากรัฐบาลทหาร และประสบความสำเร็จโดยได้มหาวิทยาลัยคืนกลับมาอย่างสันติวิธี ตึกโดมจึงได้กลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญของมหาวิทยาลัย

ซึ่งมีลูกแม่โดมคนหนึ่ง ชื่อ “เปลื้อง วรรณศรี” ได้ประพันธ์บทกวี “โดม…ผู้พิทักษ์ธรรม” โดยมีความตอนหนึ่งกล่าวว่า “ถ้าขาดโดม…เจ้าพระยา…ท่าพระจันทร์ ก็ขาดสัญลักษณ์พิทักษ์ธรรม”

ข้อมูล

ตึกโดมเป็นอาคารหลังแรกของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกแบบโดยนายหมิว อภัยวงศ์ ตามคำแนะนำของผู้ประศาสน์การ ปรับปรุงจากตึกเก่า 4 หลังของทหารโดยสร้างหลังคาเชื่อมแต่ละตึก จนเป็นอาคารเดียวกัน ส่วนกลางของตึกได้สร้างอาคาร 3 ชั้นขึ้นเพิ่มเติมโดยมี “โดม” เป็นสัญลักษณ์ตรงกลาง บริเวณชั้น 3 เป็นหอเกียรติยศ และพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ที่ตั้ง

ตึกโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตั้งอยู่บริเวณท่าพระจันทร์ เกาะรัตนโกสินทร์ กรุงเทพมหานคร ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยาและสนามหลวง มีเนื้อที่ 49 ไร่ เป็นศูนย์แรกของมหาวิทยาลัยตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง เดิมบริเวณนี้เป็นที่ตั้งของวังหน้า (พระราชวังบวรสถานมงคล)

By admin

Related Post

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *