แม้จะเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการไปแล้ว แต่ก็ใช่ว่าภัยร้ายอย่าง “โรคฮีตสโตรก” จะเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะบางวันอากาศในเมืองไทยก็ยังคงร้อยมีอุณหภูมิที่สูงอยู่ดี ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบกับกลุ่มคนที่ต้องทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแจ้ง ไปจนถึงกลุ่มคนสูงอายุ
“โรคฮีตสโตรก” หรือ “โรคลมแดด” ถือเป็นภาวะฉุกเฉินที่เกิดขึ้นเมื่อร่างกายของเรามีอุณหภูมิสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจนไม่สามารถระบายความร้อนออกได้ทัน ทำให้เกิดอันตรายต่ออวัยวะสำคัญต่างๆ ของร่างกาย
ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ 1.ลมแดดที่ไม่ได้เกิดจากการใช้กำลังกายหนัก แต่เป็นเพราะผู้ป่วยไม่สามารถทนต่อสภาพแวดล้อมที่ร้อนจัดได้ อาการตรงนี้เรามักจะพบในเด็กอายุน้อยหรือผู้สูงอายุเป็นหลัก
ส่วนประเภทที่ 2.ลมแดดที่เกิดจากการออกแรงอย่างหนักเป็นเวลานาน บวกกับอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ร้อนหรืออากาศอบอ้าวไม่ถ่ายเท รวมถึงการสวมเสื้อผ้าที่หนาและอึดอัดจนเกินไป ทำให้ไม่มีการระบายความร้อน ก็จะทำให้เกิดอุณหภูมิที่สูงขึ้นภายในร่างกายเช่นกัน
ปกติแล้วโรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่สำหรับคนที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคปอด โรคหัวใจ ผู้มีภาวะอ้วน เป็นต้น โดยคนที่ออกกำลังกายน้อย พักผ่อนไม่เพียงพอ และมีภาวะขาดน้ำ อาจเสี่ยงมากกว่าคนกลุ่มๆ อื่น
วิธีการรักษาคือ เราต้องรีบลดอุณหภูมิร่างกายให้เร็วที่สุด พาผู้ป่วยเข้าที่ร่มและอยู่ในที่เย็น มีอากาศถ่ายเท ถอดเสื้อผ้าหนาและคลายเสื้อผ้าที่รัดแน่น พร้อมกับใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามร่างกายในท่าทางที่ผู้ป่วยนอนลงและยกขาสูงเพื่อเลือดไหลกลับเข้าสู่หัวใจ หากผู้ป่วยยังรู้สึกตัวให้ดื่มน้ำเกลือแร่เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ และรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด